โตโยต้า จับมือ หอการค้าไทย และพันธมิตร ร่วมพัฒนาศักยภาพ SMEs

โตโยต้า จับมือ หอการค้าไทย และพันธมิตร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “Business Accelerator” รุ่นที่ 4 ร่วมพัฒนาศักยภาพ SMEs มุ่งสู่ช่องทางขาย Modern trade

 

นายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการบริหารหอการค้าไทย และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “Business Accelerator” ระหว่าง หอการค้าไทย และ 4 บริษัทพันธมิตร ร่วมพัฒนาศักยภาพ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ทางธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ SMEs สู่ช่องทางขายกับ Modern trade เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ สภาหอการค้าไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “ปีนี้เป็นปีเฉลิมฉลอง 90 ปี หอการค้าไทย ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนองค์กร และเศรษฐกิจประเทศ ภายใต้แนวคิด Connect - Competitive - Sustainable โดยเฉพาะประเด็นด้าน Competitive ที่หอการค้าไทยให้ความสำคัญกับการยกระดับ ขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งของโครงการ Business Accelerator ที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในการยกระดับธุรกิจ และพัฒนาสินค้า เพื่อมุ่งสู่ช่องทางการขายกับ Modern Trade”

 

นายสนั่น กล่าวในรายละเอียดของโครงการว่า “ในช่วงวิกฤติโควิด 19 ที่ผ่านมา SMEs ไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก ในวันนี้เรามอง SMEs เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติในช่วงที่ผ่านมา และไม่สามารถแข่งขันได้ หรือต้องปิดกิจการไป แต่ก็ยังต้องการกลับมาดำเนินธุรกิจในอนาคต กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ยังดำเนินกิจการอยู่แต่ไม่มีความเข้มแข็ง ขาดทั้งทุน ขาดเทคโนโลยี ขาดแนวทางการบริหารจัดการเบื้องต้น ซึ่งกลุ่มนี้หอการค้าฯ พยายามผลักดันร่วมกับรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เห็นความสำคัญ และเกิดมาตรการช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้กลุ่มนี้สามารถลุกขึ้นมาแข่งขันได้ต่อไป และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่ม SMEs ที่มีความเข้มแข็งในธุรกิจ มี Product ที่ชัดเจน และอยู่ในช่วงที่จะขยายกิจการ หรือต้องการเพิ่มช่องทางการขยายตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะใน Modern Trade”

สำหรับโครงการ Business Accelerator จะมาตอบโจทย์ และช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการได้ทั้ง 3 กลุ่ม คนกลุ่มแรก อาจจะต้องการการปูพื้นความรู้ใหม่ สร้างความเข้าใจจนรากฐานมีความมั่นคง แล้วค่อยต่อยอดไปในระดับที่สูงขึ้น กลุ่มที่ 2 เป็นการเติมเครื่องมือบางอย่างที่ยังขาด เติมมุมมอง ปรับกระบวนการ เพื่อการเติบโตในอนาคต ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่พร้อมจะก้าวกระโดดแล้ว แต่อาจจะยังขาดผู้รู้ หรือพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ มาช่วยเติมเต็ม ให้ข้อคิด และเทคนิคในการบริหารขั้นสูง เพื่อมุ่งสู่ Modern Trade หรือขยายไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น” นายสนั่น กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการ

 

นายพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการ Business Accelerator ริเริ่มจากการที่หอการค้าไทยร่วมกับบริษัทพันธมิตร เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบ่มเพาะผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการขยายช่องทางการขายกับ Modern Trade โดยเริ่มต้นจาก 7 บริษัท พันธมิตร ได้แก่ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (Lotus) บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) โดยหอการค้าไทย และพันธมิตรทั้งหมด ได้นำองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการวางแผนและการดำเนินธุรกิจมาบ่มเพาะ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการเป็นระยะเวลา 4 เดือน และเมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อมอย่างเต็มที่แล้วก็จะได้รับโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อซักซ้อมการนำเสนอสินค้าเสมือนจริงกับ Modern Trade ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาเรามีผู้ประกอบการจากโครงการฯ เข้าไปขายใน Modern Trade แล้วหลายราย จึงถือว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่สร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกผู้ประกอบการ ตลอดจนสร้างโอกาสในการขยายตลาดที่กว้างมากยิ่งขึ้นได้เป็นอย่างดี

นายพลิษศร์ กล่าวต่อไปว่า “ในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับ Business Accelerator รุ่นที่ 4 โดยหอการค้าไทย ได้รับเกียรติจากหน่วยงานพันธมิตรเพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ร่วมแสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมผู้ประกบการภายใต้โครงการ ได้แก่

 

1) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ด้านการเงิน การบริหารจัดการหนี้ รวมถึงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

2) บริษัท ซีพี ซีดดิ้ง โซเชียลอิมแพคท์ จำกัด เข้ามาร่วมผลักดันผู้ประกอบการ ให้เข้าสู่ช่องทางการขายผ่านเครือข่ายพันธมิตร และโครงการจับคู่ธุรกิจของหอการค้าไทย

3) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ช่วยเสริมองค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ที่จำเป็นกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะด้านการผลิต

4) ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม ดับเบิลยู แอคเคาน์ติ้ง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีระบบบัญชีเดียว ที่ถูกต้องตามมาตรฐานบัญชี เพื่อการขยายธุรกิจในอนาคต”

 

นายนันทวัฒน์ ศรีวรัตน์อัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “เพื่อร่วมเติบโตไปกับสังคมไทยในทุกมิติ โตโยต้ามีความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มั่นคงมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” โดยนำองค์ความรู้ของโตโยต้าไปช่วยปรับปรุงวิถีการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยให้มีประสิทธิภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง โดยได้ช่วยเหลือปรับปรุงการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนไปแล้วกว่า 32 แห่งทั่วประเทศ เราจึงได้นำประสบการณ์ดังกล่าวเข้าส่งเสริมพันธกิจของหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยร่วมมือจากองค์กรเอกชนชั้นนำของประเทศที่มีความรู้ และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจแบบมืออาชีพในหลากหลายสาขา ในการแบ่งปันองค์ความรู้การดำเนินธุรกิจให้แก่บรรดาผู้ประกอบการไทย ภายใต้โครงการ Big Brother พี่ช่วยน้อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา มีส่วนร่วมในการส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในโครงการฯไปแล้ว 26 ราย”

 

ในครั้งนี้ เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมลงนามความร่วมมือใน “โครงการ Business Accelerator รุ่นที่ 4” และเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับปรุง และพัฒนาธุรกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างมั่นคงต่อไป” นายนันทวัฒน์ กล่าวย้ำด้วยความภาคภูมิใจ

 

นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการบริหารหอการค้าไทย และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) กล่าวอีกด้วยว่า “โครงการ Business Accelerator ที่ผ่านมา 3 รุ่น เราบ่มเพาะผู้ประกอบการไปมากกว่า 190 บริษัท ผลักดันเข้าสู่ช่องทางการเจรจาทางการค้ากับ Modern Trade ได้มากกว่า 30 บริษัท ถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการ SMEs เพราะจะเป็นการขยายตลาดให้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิดที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs จึงจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกอื่น เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจว่าการจะเข้าสู่ตลาด Modern Trade ได้นั้น จะต้องพบกับเรื่องอะไร หรือต้องเตรียมรับกับเรื่องอะไรบ้าง หากขาดความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในช่องทางดังกล่าวได้ โครงการนี้จะเป็นการเปิดมุมมองในทุกมิติให้กับผู้ประกอบการได้เข้าใจได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

 

สำหรับวันนี้ เรามีการ Kickoff รุ่นที่ 4 โดยเพิ่มความเข้มข้นในเนื้อหาหลักสูตรมากยิ่งขึ้น เสริมในส่วนของประสบการณ์ตรงจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในภาคธุรกิจจริง และยังเพิ่มเติมแนวทางจากการถอดบทเรียน โดยรุ่นพี่ของโครงการที่จบหลักสูตรไปแล้ว มาถ่ายทอดแนวความคิด และวิธีการพัฒนาศักยภาพให้กับเพื่อน SMEs ในรุ่นที่ 4 อีกด้วย” นายปิยะวัฒน์ กล่าวในที่สุด

 

โตโยต้า มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการ “Business Accelerator” รุ่นที่ 4 เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพ SMEs มุ่งสู่ช่องทางขาย Modern trade ต่อไป

                                                  “โตโยต้า ร่วมขับเคลื่อนอนาคต”

Visitors: 5,034,976